อักษรเบรลล์

อักษรเบรลล์ (อังกฤษBraille) เป็นอักษรสำหรับคนตาบอด ประดิษฐ์โดย หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ครูตาบอดชาวฝรั่งเศส มีลักษณะเป็นจุดนูนเล็กๆ ใน 1 ช่องประกอบด้วยจุด 6 ตำแหน่ง ซึ่งนำมาจัดสลับกันไปมาเป็นรหัสแทนอักษรตาดีหรือสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โน้ตดนตรี ฯลฯ การเขียนใช้เครื่องมือเฉพาะเรียก สเลต (Slate) และดินสอ (Stylus) การพิมพ์ใช้เครื่องพิมพ์เรียก เบรลเลอร์ (Brailler) ใช้กระดาษหนาขนาดกระดาษวาดรูป

 

ตัวอย่างอักษรเบรลล์ คำว่า Premier

ประวัติ

หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) เกิดที่เมือง Coupvray ใกล้กับปารีส ในประเทศฝรั่งเศส แต่เติบโตที่เมือง Lisle บิดาคือ ไซมอน เรเน่ เบรลล์ (Simon-René Braille) มีอาชีพทำอานม้า เมื่ออายุได้ 3 ปี เบรลล์ประสบอุบัติเหตุจากเข็มของบิดา ทำให้ตาข้างซ้ายบอด เมื่ออายุได้ 4 ปี โรคตาอักเสบอย่างรุนแรงทำให้เบรลล์ตาบอดทั้ง 2 ข้าง แต่เบรลล์ก็ยังได้เข้าเรียน ด้วยการสนับสนุนจากพ่อ ในปี 1821 กัปตันชาร์ล บาบิแอร์ นายทหารแห่งกองทัพบกฝรั่งเศสได้มาเยี่ยมโรงเรียน และนำวิธีการส่งข่าวสารของทหารในเวลากลางคืน เรียกว่า night-writing มาลองใช้ ซึ่งเป็นรหัสที่ใช้จุด 12 จุด และใช้ค่อนข้างยาก ในปีนั้นเอง เบรลล์ได้เริ่มประดิษฐ์อักษรที่ใช้ระบบจุดเช่นกัน เบรลล์ใช้จุดเพียง 6 จุด และใช้เพียงนิ้วเดียววางบนจุดทั้งหมด

อักษรเบรลล์ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จนกระทั่งปีค.ศ. 1868 เมื่อ Dr. Thomas Armitage กับเพื่อนอีก 5 คน ผู้ก่อตั้ง British and Foreign Society for Improving the Embossed Literature of the Blind (ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Royal National Institute of the Blind) ได้ตีพิมพ์หนังสือ Braille’s system ปัจจุบันอักษรเบรลล์ได้ถูกนำไปใช้ทั่วโลก

ประวัติเบรลล์ในประเทศไทย

อักษเบรลล์เริ่มมีการนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยอาจารย์เจเนวีฟ คอลฟีลด์ (Genevieve Caulfield) ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นในประเทศไทย 12 มกราคม พ.ศ. 2482 ใช้ชื่อว่า โรงเรียนสอนคนตาบอด นับว่าเป็นโรงเรียนสำหรับคนพิการแห่งแรกในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ร่วมกำหนดรหัสโค้ดอักษรเบรลล์ไทยขึ้น ประกอบด้วย พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกด มีนักเรียนคนแรก คือ หม่อมเจ้าพวงมาศผกา ดิศกุล และได้ทำการเผยแพร่ในระบบการศึกษาและการประกอบอาชีพยาวนานกว่า 70ปี

ในวันที่ 13-15 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ได้จัดทำร่างคู่มือมาตรฐานการใช้อักษรเบรลล์ในประเทศไทย และเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตาม อักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยองค์กร BANA (The Braille Authority Of North America) ซึ่งเป็นตัวแทน 14 องค์ได้มีการเปลี่ยนแปลงรหัสอักษรเบรลล์บางตัว ทำให้ในประเทศไทยต้องปรัปรุงคู่มือมาตรฐานการใช้อักษรเบรลล์ในไทยด้วย

ในปี พ.ศ. 2558 อักษรเบรลล์ในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงให้รับอักษรเบรลล์ภาษาอั UEB UEB (Unified English Braille) มาใช้ในประเทศไทย